กลิ่นหอมจากพืช…มาเป็นน้ำหอมได้อย่างไร
กลิ่นหอมสดชื่นของดอกไม้นานาพันธุ์ ล้วนเกิดจากน้ำมันหยดเล็กๆ ที่พืชหลั่งออกมา เรียกว่า “น้ำมันหอมระเหย” (essential oil) พืชผลิตน้ำมันหอมระเหยด้วยเหตุผลต่างๆ กัน บ้างใช้เพื่อล่อแมลงให้มาผสมเกสรบ้างเพื่อป้องกันพวกกาฝากและสัตว์อื่นมารบกวน แม้ว่าโลกเราจะมีต้นไม้นับพันๆ ชนิด แต่มีเพียง 200 กว่าชนิดที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยได้ น้ำมันแต่ละชนิดมีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยต่างกัน ซึ่งอาจนำมาผสมกันจนเกิดเป็นน้ำมันหอมหลายร้อยชนิดได้
อย่างไรก็ตาม น้ำมันหอมทุกชนิดมีองค์ประกอบสำคัญเพียง 3 ประการคือ “กลิ่นนำ” (top note) ซึ่งประกอบด้วยน้ำหอมที่ระเหยง่าย ส่งกลิ่นกระทบประสาทสัมผัสอย่างได้ผลในฉับพลัน ต่อมาคือ “กลิ่นตาม” (middle note) ซึ่งช่วยปรุงแต่งกลิ่นที่กระทบประสาทในตอนแรกนั้นอีกทีหนึ่ง กลิ่นนี้เป็น “เนื้อแท้” (perfume body) ของน้ำหอม และท้ายที่สุดคือ “กลิ่นหลัก” (base note) เป็นกลิ่นที่หอมทนทานประทับใจยาวนาน
ชาวโรมันและกรีกโบราณผลิตน้ำหอมโดยการแช่ดอกไม้ ใบ และราก ในน้ำมันสัตว์หรือน้ำมันมะกอกเพื่อให้ดูดซับกลิ่นจากพืชนั้น น้ำมันหอมนี้มีราคาค่อนข้างแพงและนิยมใช้กันทั้งหญิงและชาย เมื่อครั้งที่พระนางคลีโอพัตราเสด็จออกต้อนรับมาร์ค แอนโธนี ก็ทรงให้ใช้น้ำหอมชโลมผ้าสีม่วงที่ใช้เป็นใบเรือที่ประทับ เพื่อความเย้ายวนใจ ชาวอาหรับเป็นพวกแรกที่รู้จักสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีกลั่น (distillation) โดยการนำดอกหรือใบของไม้หอมมาหั่นหรือบดให้ละเอียด แล้วอบด้วยไอน้ำเพื่อให้น้ำมันหอมกลายเป็นไอลอยไปที่หลอดแก้ว เย็นลงและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ แม้จะได้ผลผลิต (yield) ต่ำมากคือปกติได้ปริมาณไม่ถึง 1/1000 ของวัตถุดิบที่นำมากลั่นแต่ก็ได้กลิ่นหอมที่เข้มข้นมาก จนแม้ผสมให้เจือจางลง 100 เท่าก็ยังส่งกลิ่นหอมจัด
การสกัดน้ำมันหอมด้วยวิธีกลั่นไม่อาจนำมาใช้กับพืชได้ทุกชนิด เพราะความร้อนจะทำลายกลิ่นไม้หอมบางชนิดได้ ที่เมืองกราสส์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำหอมที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ยังคงสกัดกลิ่นหอมด้วยวิธีที่เรียกว่า “อองเฟลอราจ (enfleurage) คือนำดอกไม้ไปโรยไว้บนไขมันสัตว์หรือไขมันหมูที่บริสุทธิ์มาก แล้วจึงนำไปไว้ในห้องเย็นเป็นเวลา 1-3 วัน ให้ไขมันดูดซับน้ำมันหอมจากดอกไม้ ผลผลิตที่ได้เรียกว่า “โปมาด(Pomade)” จากนั้นจึงใส่แอลกอฮอล์เพื่อละลายไขมันที่ไม่ต้องการ ผลก็คือจะได้น้ำมันหอมในสารละลายแอลกอฮอล์พร้อมที่จะนำไปผสมทำน้ำหอมต่อไป แหล่งผลิตตามที่ต่างๆ มักผลิตหัวน้ำหอมได้ปีละไม่กี่ตัน ผู้ผลิตน้ำหอมจะนำน้ำมันหอมระเหยไปปรุงแต่งเป็นกลิ่นต่างๆด้วยวิธีการอันเป็นศิลปะที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน น้ำมันประเภทกลิ่นไม้ดอกมักผสมกลิ่นกุหลาบหรือกลิ่นดอกพุด (gardenia) เป็นสำคัญ ส่วนน้ำหอมประเภทกลิ่นอายตะวันออก กลิ่นสมุนไพรหรือกลิ่นเครื่องเทศมักผสมกลิ่นอบเชยจากจีน พม่า และศรีลังกา หรือลูกจันทน์เทศจากอินโดนีเซีย น้ำมันหอมหลังโกนหนวดมักมีกลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นไม้ และกลิ่นหนังสัตว์เป็นกลิ่นเด่น
วิธีทำให้น้ำหอมมีกลิ่นทนนานต้องอาศัยสารคงสภาพ (fixative) ในสมัยก่อนสารนี้ได้จากส่วนประกอบหรือผลิตผลจากสัตว์ เช่น สำรอกปลาวาฬ (ambergris) จากส่วนลำไส้ของปลาวาฬ สเปิร์มชะมดเชียง (musk) ได้จากถุงในท้องกระจงตัวผู้ ชะมดเช็ด (civet) จากสารที่หลั่งจากต่อมของตัวชะมดและคาสทอเรียม (cartoreum) หรือน้ำมันเมล็ดละหุ่ง (castor) ที่หลั่งจากต่อมของตัวบีเวอร์ ในปัจจุบันมักผลิตสารกันระเหยด้วยวิธีสังเคราะห์ทางเคมี ซึ่งผลิตได้ปริมาณมากและราคาถูกกว่าจากสารธรรมชาติ น้ำหอมที่ปรุงแต่งกลิ่นเสร็จแล้ว มักประกอบด้วยหัวน้ำมันหอมระเหยอย่างน้อย 20-30 ชนิด หรืออย่างมากอาจถึง 300 ชนิด เมื่อปรุงเสร็จแล้วก็นำไปขายในรูปแบบต่างๆ กัน น้ำหอมประเภทโคโลญ (cologne) หรือ โอ เดอ ตัว แลตต์ (eau de toilette) มีหัวน้ำหอมประมาณ 2-6% ละลายอยู่ในแอลกอฮอล์ ส่วนน้ำหอม (perfume) มีความเข้มข้นกว่า คือจะมีหัวน้ำหอมประมาณ 10-25% ละลายอยู่ในแอลกอฮอล์
เมื่อนักเคมีวิเคราะห์สารต่างๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นได้สำเร็จ ก็จะสังเคราะห์กลิ่นหอมนั้นๆ ได้ ซึ่งกลิ่นสังเคราะห์จะมีราคาถูกกว่าน้ำหอมที่ผลิตจากธรรมชาติมาก ดังนั้นวงการอุตสาหกรรมจึงนำมาใช้ปรุงแต่งกลิ่นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู โลชั่น ผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นอาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ปรับอากาศ น้ำยาขัดเงา ฯลฯ
ที่มา : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)