บทความ

9 อย่างที่ควรมีก่อนเริ่มขายออนไลน์

9 อย่างที่ควรมีก่อนเริ่มขายออนไลน์

1. ชื่อร้าน

ขายของออนไลน์ ชื่อร้านต้อง อ่านง่าย จำง่าย คุ้นหู ค้นหาเจอ

หลายคนคิดว่าการต้ังชื่อร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง จะตั้งชื่อร้านอะไรก็ได้ตามใจชอบ ยิ่งถ้าแปลกไม่ซ้ำใครยิ่งดี (บางทีถึงกับเปิดดิกชันนารีหากันด้วยซ้ำ) แต่หารู้ไม่ การตั้งชื่อร้านต้องมีเทคนิคนั่นก็คือ ต้องอ่านง่าย จำง่าย คุ้นหู และต้องค้นหาเจอง่าย

 

  • อ่านง่าย ชื่อที่ออกเสียงยาก ไม่คุ้นหูคนไทย มีผลทำให้ลูกค้าไม่จดจำร้าน หรือบางทีก็ไม่กล้าแนะนำร้านคุณกับคนรู้จัก เพราะกลัวออกเสียงผิด! เท่ากับคุณเสียโอกาสได้ลูกค้าใหม่ไปอีกคน

  • จดจำง่าย คุ้นหู ชื่อร้านที่ดีควรทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย เห็นปุ๊บจำปั๊บยิ่งดี ข้อนี้ก็แล้วแต่ความครีเอทของแต่ละคนเลยค่ะว่าจะใช้ไม้ไหน ไม่ว่า ตั้งชื่อร้านให้สัมพันธ์กับสินค้าที่ขาย เช่น ถ้าคุณขายนาฬิกาและตั้งชื่อให้มีคำว่า Time หรือ Watch ลูกค้าก็จะสามารถจดจำและหาร้านของคุณเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือใช้เทคนิคใช้ศัพท์ที่เรียกความสนใจ เช่น ‘คนอะไรเป็นแฟนหมี’ (นั่นดิ..คนอาร๊ายเป็นแฟนหมี อยากรู้ไหมล่ะ)

  • ค้นหาเจอง่าย สมัยนี้ไม่ใครจะหาอะไรก็ต้องถามอากู๋ Google หรือ Facebook กันทั้งนั้นแหล่ะค่ะ ยิ่งถ้าเราคิดชื่อได้ตรงกับคำศัพท์ที่ลูกค้าใช้ค้นหา (Search) ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้ลูกค้าหาร้านเราเจอง่ายขึ้น

2. สินค้า

เลือกจากสิ่งที่ชอบ เลือกจากสิ่งที่ใช่

  • เลือกจากสิ่งที่ชอบ เลือกจากสิ่งที่คุณชอบ เพราะ เวลาขายคุณจะสามารถให้ข้อมูลลูกค้าได้อย่างชัดเจน นี่ยังไม่นับไปถึงความสุขที่คุณจะได้ทำสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ จนรู้สึกมีความสุขจนเหมือนไม่ได้ทำงานเลยนะ

  • เลือกจากสิ่งที่ใช่ แต่ถ้าคุณไม่ได้ชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษ แค่อยากมีร้านค้าเป็นของตัวเอง คุณอาจจะเริ่มโดยการสำรวจตลาดว่าสินค้าอะไรกำลังเป็นที่ต้องการและน่าจะทำกำไรได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่คนส่วนมากหันมาใช้สมาร์ทโฟน การขายแบตสำรองหรือเคสโทรศัพท์มือถือก็เป็นความคิดที่ไม่เลว หรือจะหาไอเดียได้ที่ ขายอะไรดี ? รวมไอเดียสินค้าน่าขายออนไลน์

3. เงินทุน

ต้นทุนการขายของออนไลน์ ไม่ได้มีแค่ค่าสินค้าเพียงอย่างเดียว

เงินที่คุณจะนำมาลงทุนในการเริ่มร้านออนไลน์ไม่ควรจะครอบคลุมแค่ค่าสินค้าที่คุณจะสั่งมาขาย แต่ควรรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คุณอาจต้องเสีย เช่น ค่าจัดส่ง ค่าแพ็กสินค้า ค่าโฆษณา ฯลฯ ดังนั้น คุณควรวางแผนให้ดี ว่าเงินทุนของคุณนี้จะสามารถทำให้คุณดำเนินการได้แบบไม่ต้องไปขอยืมคนอื่นทีหลัง ยิ่งถ้าคุณคิดจะลาออกจากงานประจำมาขายของออนไลน์ด้วยแล้ว คุณยิ่งต้องคิดให้รอบคอบ

4. จุดยืนของร้าน

วางแผนร้านให้ชัดเจน

เมื่อมีสินค้าแล้ว ก็ถึงเวลาคิดว่าสินค้าของคุณเหมาะที่จะขายส่งหรือขายปลีกมากกว่ากัน บางครั้งการเลือกขายสินค้าส่งในราคาถูก เอากำไรน้อย อาจทำให้คุณรวยแบบไม่รู้เรื่องก็ได้ ในขณะที่สินค้าบางอย่าง เช่น สินค้าแฟชั่น ก็เหมาะที่จะขายปลีกแบบเอากำไรสูง

5. ช่องทางขายสินค้า

ขายที่ไหนบ้าง? FACEBOOK, INSTAGRAM หรือ LINE@

ช่องทางการขายว่าเราจะเปิดร้านออนไลน์และขายสินค้าของเราบนไหน ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีต่อผลต่อความสำเร็จของร้าน เพราะแต่ละช่องทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แตกต่างกัน

  • ขายบนเพจ Facebook เป็นช่องทางที่ง่ายที่สุด คนขายนิยมสูงสุด และก็เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเราได้มากที่สุดเช่นกัน เพราะสมัยนี้ใครๆก็เล่น Facebook กันทั้งนั้น ทำให้สินค้าเราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายมาก ยิ่งปัจจุบัน Facebook เปิดให้ลงโฆษณา (Facebook Ads) ที่สามารถตั้งงบที่ใช้ลงโฆษณาและกำหนดกลุ่มเป้าหมายเองด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เปิดเพจขายของบน Facebook ยิ่งฮอตฮิตเข้าไปใหญ่ ทำให้คนหายกลายเป็นเศรษฐีมาแล้วมากมาย

  • ขายบน Instagram เป็นอีกช่องทางที่เริ่มนิยมเป็นอันดับถัดมา โดยจะเน้นการขายผ่านรูปภาพ ลงรายละเอียดได้ไม่มากเหมือน Facebook ดังนั้นหากจะขายผ่านช่องทางนี้ คุณต้องมีฝีมือในการถ่ายภาพสินค้าในระดับนึงเลยแหล่ะถึงจะปัง แต่ถ้ายังฝีมือไม่เข้าขั้นก็ฝึกฝนกันได้นะคะ

  • ขายผ่าน LINE และ LINE@ ช่องทางนี้ก็เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจและควรมี แต่นั่นต้องหลังจากที่คุณมีเพจ Facebook หรือ ร้านบน Instagram แล้วนะคะ เพราะช่องทางนี้เป็นช่องทางที่ร้านสามารถแชทตรงกับลูกค้าได้เลย ลูกค้าจะรู้สึกเหมือนได้คุยกับคนเป็นๆ มากกว่า ร้านค้าส่วนใหญ่จึงใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเก่า เช่น การอัพเดตสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ โปรโมชั่นล่าสุด ฯลฯ

6. แผนการตลาด

จุดขายดึงดูด ส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย

แผนการตลาด เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดชะตาของร้านคุณ เพราะถึงคุณจะมีสินค้าคุณภาพดีราคาถูก แต่ถ้าไม่มีใครรู้จักร้านของคุณก็ไม่มีประโยชน์ คุณจึงควรวางแผนให้ดีว่าจะโปรโมตร้านค้าหรือสินค้าของคุณอย่างไร จะดึงดูดลูกค้าอย่างไร และจะทำให้อย่างไรให้ร้านคุณที่เพิ่งเปิดใหม่เอาชนะร้านอื่นๆ ที่เปิดมาก่อนหน้าคุณได้ การวางแผนการตลาดอาจเริ่มจากขั้นตอนต่อไปนี้

  • วาดภาพเป้าหมายให้ชัดเจน

  • มีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น เมื่อเปิดเพจแล้วจะทำให้คนรู้จักอย่างไร

  • วางงบประมาณที่จะใช้เพื่อทำให้ขั้นตอนต่างๆ สำเร็จ

  • วางกำหนดเวลาเพื่อประเมิน ตรวจสอบ และปรับปรุงแผน

7. ช่องทางการชำระเงิน

ยิ่งเยอะยิ่งดี ถ้าขายของแพงรับบัตรเครดิตได้ยิ่งเริ่ด

การชำระเงินควรเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกค้า คุณควรเปิดบัญชีสำหรับร้านของคุณกับธนาคารที่คนส่วนใหญ่ใช้บริการ แทนที่จะเลือกธนาคารที่ไม่เป็นที่นิยมแต่ให้ดอกเบี้ยดี นอกจากนี้ ถ้าคุณวางแผนจะขายสินค้าให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ คุณก็ควรมีบัญชีที่รองรับการโอนเงินจากต่างประเทศ (และมีแผนสำหรับการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศแบบที่คุณไม่ขาดทุน) บัญชี Paypal นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีและสามารถสมัครใช้งานง่าย

8. ความอดทนและมุ่งมั่น

คิดไว้เราต้องทำได้

หลายคนเริ่มธุรกิจด้วยความรู้สึกอยากรวยเร็ว เราหวังให้การลงทุนของเราผลิดอกออกผลเป็นกำไรตั้งแต่วินาทีที่เราเริ่มเปิดร้าน แต่นั่นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นความเพ้อฝัน เพราะเมื่อคุณเริ่มเปิดร้าน เป็นไปได้ว่าคุณจะไม่มีลูกค้าเลยในอาทิตย์แรกๆ (ไม่นับเพื่อน ญาติ และคนรู้จัก) อาจมีลูกค้าหลายคนมาให้ความสนใจสินค้าของคุณแต่ก็จากไป คุณจะเริ่มสงสัยว่าคุณทำอะไรผิด บางครั้งอาจถึงขั้นอยากลดราคาแล้วขายทุกอย่างเพื่อให้คืนทุน อย่าทำแบบนั้น คุณต้องมั่นใจและหมั่นตรวจสอบแผนการตลาดของคุณว่าได้ผลตามคาดหรือไม่ และหัดปรับเปลี่ยน ทำอะไรใหม่ๆ เพื่อเรียกลูกค้า และอย่าท้อแท้

9. เวลา

ยิ่งเร็ว ยิ่งได้เปรียบ

ถ้าคุณเตรียมตัวจะยึดการขายของออนไลน์เป็นอาชีพก็แล้วไป แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ยังต้องทำงานประจำ คุณควรวางแผนบริหารเวลาให้ดี เพราะบางที “ความอยากได้” ของลูกค้าก็มีระยะเวลาจำกัด การที่คุณไม่สามารถโต้ตอบลูกค้าได้ทันเวลา อาจหมายถึงการเสียลูกค้าไป คุณอาจใช้ตัวช่วยอย่างระบบตอบกลับอัตโนมัติของ Page365 ตอบบทสนทนาจากลูกค้าในเวลาที่คุณไม่ว่าง เพื่อเป็นการซื้อเวลาไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่าถูกทอดทิ้งก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.page365.net/9-things-for-starting-online-store

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.